0-2727-3138 - 43, 0-2727-3162 National Institute of Development Administration (NIDA)

          TH   EN

About

 

  Home / About

ประวัติคณะภาษาและการสื่อสาร

 

คณะภาษาและการสื่อสารได้รับการจัดตั้งขึ้นในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2509 ภายใต้ชื่อ “สำนักภาษาต่างประเทศ” มีหน้าที่ ความรับผิดชอบในการสอน ภาษาต่างประเทศแก่นักศึกษาของสถาบัน โดยระยะแรก รับผิดชอบเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษ นักศึกษาปริญญาโท แต่เนื่องจากขอบเขตการทำงาน ในระยะแรกยังไม่กว้างขวางสถาบันจึง เสนอให้สภาสถาบันเปลี่ยนชื่อ สำนักภาษาต่างประเทศ เป็น “โครงการภาษาอังกฤษ” สังกัด สำนักงานอธิการบดี ตั้งแต่ ปี 2514 เป็นต้นมา ในระยะต่อมาเมื่อความรับผิดชอบและภาระงานของโครงการภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น ผู้บริหารในขณะนั้น ได้เสนอต่อสภาสถาบันให้ดำเนินการยกสถานะภาพขึ้นเป็นสำนัก สถาบันฯได้เสนอต่อกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในปัจจุบัน) ให้ยกสถานะภาพ โครงการภาษาอังกฤษ เป็น สำนักภาษา โดยมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักภาษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ.2529ตามประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอนที่ 85 ลงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2529

ในปี พ.ศ. 2538 สำนักภาษาได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาภาษา และการสื่อสาร หลังจากนั้นในปี 2541 ได้เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตร ภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสารธุรกิจ จากภาระหน้าที่ใหม่ซึ่งครอบคลุมงานผลิตบัณฑิต นอกเหนือจากงานจัดการ เรียนการสอนภาษา การวิจัย การบริการวิชาการต่อสังคม ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงาน ที่เป็น คณะ สำนักภาษา จึงได้ขอเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น คณะภาษาและการสื่อสาร เพื่อให้เกิด ความชัดเจนและความเหมาะสม ในการจัดระบบงาน ความ มีประสิทธิภาพในการบริหาร และให้ ตรงกับ ภาระงานหลักที่ปฏิบัติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้ พิจารณาเห็นชอบอนุมัติหลักการร่าง พระราชกฤษฎีกา จัดตั้ง คณะภาษาและการสื่อสาร เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2542 และมีมติ ให้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ พิจารณา และได้มี พระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะภาษา และการสื่อสาร ในสถาบันบัณฑิตพัฒน -บริหารศาสตร์ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2542 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 108ก ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2542

ปรัชญา

คณะภาษาและการสื่อสารมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสถาบันไปสู่เป้าหมาย จึงใช้ปรัชญาเดียวกับสถาบันคือ

"สร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง"

วิสัยทัศน์

"เป็นสถาบันชั้นนำด้านภาษาและการสื่อสารในระดับประเทศและภูมิภาค" ซึ่งเผยแพร่ความรู้ด้านภาษาและการสื่อสารในระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดจนการบริการวิชาการ โดยผ่านการเรียนการสอนและการวิจัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งเป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านภาษาและการสื่อสาร ซึ่งสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

พันธกิจ

  1. สอนศาสตร์ด้านภาษาและการสื่อสาร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
  2. วิจัยเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ศาสตร์ด้านภาษาและการสื่อสาร
  3. บริการวิชาการด้านภาษาและการสื่อสาร เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสังคม
  4. ยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมในเชิงวิชาการและวิชาชีพ
  5. สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ค่านิยม

  • สร้างผู้นำที่มีปัญญาคู่คุณธรรมเพื่อพัฒนาประเทศ
  • สร้างเสริมการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โดยให้คุณค่ากับการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของบุคลากร

โครงสร้างองค์กร

 

ในการบริหารงานของคณะภาษาและการสื่อสาร มีคณบดีเป็นผู้บังคับบัญชาและ รับผิดชอบดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการของคณะ รักษาระเบียบวินัย และปฏิบัติการตามที่ กำหนดไว้ในข้อบังคับของสถาบัน ตลอดจนระเบียบของคณะ และมีรองคณบดี 3 คน ทำหน้าที่และรับผิดชอบงานฝ่ายวางแผนและพัฒนา งานบริหาร และฝ่ายวิชาการ ตามที่คณบดี มอบหมาย โดยการบริหารงานจะมีคณะกรรมการประจำคณะ ซึ่งมีคณบดีเป็นประธาน รองคณบดี คณาจารย์จากภายในคณะเป็นกรรมการ คณะกรรมการประจำคณะ มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

  1. วางระเบียบปฏิบัติภายในคณะด้วยความเห็นชอบของสภาสถาบัน
  2. กำหนดหลักสูตร และรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อเสนอสภาสถาบัน
  3. รับปรึกษาและให้ความเห็นแก่คณบดีในกิจการของคณะ

นอกจากนี้ คณะได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อรับผิดชอบบริหารงานหลักเฉพาะด้าน ได้แก่

  • คณะกรรมการบริหารเงินทุนคณะ
  • คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษา
  • คณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการวิชาการ
  • คณะกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาโทภาคพิเศษ
  • คณะกรรมการประชาสัมพันธ์
  • คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
  • คณะกรรมการกำกับดูแลด้านจรรยาบรรณของอาจารย์
  • คณะกรรมการกิจกรรม KM
  • คณะ อนุกรรมการกำกับดูแลตามตัวบ่งชี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา
  • คณะทำงานเฉพาะกิจต่างๆ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานเป็นครั้งคราวหรือปฏิบัติงานที่สถาบัน

มอบหมายในขอบเขตที่กำหนดไว้ เช่น คณะอนุกรรมการทุนและรางวัลการศึกษา คณะอนุกรรมการออกและตรวจข้อสอบคัดเลือก เป็นต้น

นอกจากนี้คณะได้แต่งตั้งผู้รับผิดชอบดูแลงานภายในคณะ อาทิ การให้บริการทดสอบ TOEFL/ITP การทดสอบภาษาอังกฤษให้คณะต่างๆ กิจกรรมนักศึกษา การจัดทำวารสารวิชาการ การจัดประชุมวิชาการ การจัดเสวนาวิชาการ เป็นต้น การบริหารงานภายในคณะยึดถือหลัก การบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยบุคลากรของคณะสามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับ นโยบาย และมีส่วนในการกำหนดแนวปฏิบัติ โดยคณะจัดการประชุมคณาจารย์และเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับทราบนโยบายของสถาบัน และคณะในเรื่องต่างๆ ตลอดจนพิจารณาแนวทาง การดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และมอบหมายภาระหน้าที่ในการปฏิบัติงาน โดยมีแผนภูมิการบริหารงานดังนี้

Copyright © School of Language and Communication 2019